มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส เปิดเผยในวันจันทร์ (7 ก.พ.) ว่า ธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา และกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในยุโรป ถือเป็นธนาคารที่มีการใช้สกุลเงินดอลลาร์ในการทำธุรกรรมมากที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดาประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งทำให้ธนาคารเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับผลกระทบจากการอ่อนค่าของสกุลเงินท้องถิ่น และการที่ผู้ฝากเงินแห่ถอนเงินออกจากบัญชี หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ดำเนินนโยบายคุมเข้มทางการเงิน
มูดี้ส์ ระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจจะส่งผลให้เงินทุนที่ไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ชะลอตัวลง ทำให้สกุลเงินและอัตราการขยายตัวของประเทศเหล่านี้อ่อนแอลง และยังอาจสร้างความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือให้ธนาคารพาณิชย์ที่ใช้สกุลเงินดอลลาร์ระดับสูงในการทำธุรกรรม
“ธนาคารพาณิชย์ที่มีเงินกู้และเงินฝากสกุลต่างประเทศเป็นจำนวนมากในงบดุลบัญชีนั้น มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับภาวะหนี้สูญ และเผชิญแรงกดดันด้านความสามารถในการทำกำไรและด้านสภาพคล่อง เมื่อค่าเงินภายในประเทศทรุดตัวลงอย่างรุนแรง” มูดี้ส์ กล่าว
“ผู้กู้ยืมบางกลุ่มอาจประสบกับความยากลำบากในการชำระคืนเงินกู้สกุลเงินต่างประเทศ และบรรดาผู้ฝากเงินมีแนวโน้มที่จะถอนเงินออกจากบัญชี นอกจากนี้ การใช้สกุลเงินดอลลาร์ในการทำธุรกรรมที่สูงมากนั้นยังจะบั่นทอนเสถียรภาพด้านการเงินในช่วงเวลาวิกฤต หากธนาคารกลางของประเทศต่างๆ มีทุนสำรองไม่เพียงที่จะเข้ามาช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ที่ขาดแคลนสกุลเงินดอลลาร์” มูดี้ส์ ระบุ
ข้อมูลล่าสุดของ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 35% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือน มี.ค. จากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 14% ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือน ม.ค.ของสหรัฐฯ จะพุ่งขึ้น 7.2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ.2525 โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ มีกำหนดเปิดเผยดัชนี CPI เดือน ม.ค.ในวันพฤหัสบดีนี้
อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket