ธุรกิจตะมะดอว์

เรื่องที่น่าสนใจ

นักวิเคราะห์เชื่อว่า การก่อรัฐประหารของกองทัพ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา  ส่วนหนึ่งเป็นความพยายามปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจเหล่านี้

คณะทำงานของสหภาพยุโรป (อียู) กำลังพิจารณามาตรการคว่ำบาตร รัฐบาลทหารเมียนมา นำโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยจะเน้นธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันและสร้างรายได้แก่กองทัพ และคณะนายทหารระดับสูง

มาตรการคว่ำบาตรของอียู คาดว่าจะได้รับการอนุมัติ จากที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ 27 ชาติสมาชิก ที่สำนักงานใหญ่องค์กร ในกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ในวันที่ 22 มี.ค.ที่จะถึง

เป็นที่ทราบกันว่า กองทัพเมียนมา หรือที่เรียกกันว่า ตะมะดอว์ (Tatmadaw) ซึ่งรวมทุกเหล่าทัพ นอกจากจะได้รับเงินสนับสนุนก้อนโตในแต่ละปี จากงบประมาณแห่งชาติ ยังมีรายได้ทางลับอีกมหาศาล จากเครือข่ายธุรกิจ ที่เกี่ยวพัน ทั้งโดยตรงและทางอ้อม

รายงานของสำนักข่าวบีบีซีอังกฤษ บอกว่า วงการธุรกิจเอกชนในแดนโสร่ง ต่างพูดกันว่า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่นั่น ไม่ต่างอะไรกับ “เกาะซิซิลีภายใต้มาเฟีย” ขณะที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวกล่าวว่า การปฏิรูปประชาธิปไตย จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทหารกลับคืนสู่กรมกองเท่านั้น

ตะมะดอว์เริ่มเกี่ยวพันกับธุรกิจ หลังจาก พล.อ.เน วิน ก่อรัฐประหารสังคมนิยม ยึดอำนาจจากรัฐบาลนำโดยนายก ฯ อู นุ เมื่อต้นเดือน มี.ค. 2505 ซึ่งช่วงนั้นตะมะดอว์ได้รับงบจากรัฐบาลน้อย จำเป็นต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลัก  และได้รับอนุญาตให้เข้าไปมีหุ้นส่วน กับธุรกิจท้องถิ่น เพื่อหาเงินสนับสนุนปฏิบัติการ

ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 ตะมะดอว์ก่อตั้งหน่วยงานลงทุน 2 บริษัท คือ เอ็มอีซี (Myanmar Economic Corporation : MEC) และ เอ็มอีเอชแอล (Myanmar Economic Holdings Limited : MEHL) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแหล่งสร้างความร่ำรวยให้กับระดับบิ๊กของตะมะดอว์

เอ็มอีซี และเอ็มอีเอชแอล เข้าไปมีหุ้นในธุรกิจสำคัญเกือบทุกภาค ไล่ตั้งแต่ธนาคาร เหมืองแร่ ยาสูบ หรือการท่องเที่ยว เอ็มอีเอชแอลยังบริหารกองทุนบำเหน็จบำนาญของกองทัพด้วย

บรรดานายทหารระดับสูงของตะมะดอว์ และสมาชิกในครอบครัว มีเครือข่ายผลประโยชน์ทางธุรกิจกว้างขวาง และเคยถูกกลุ่มชาติตะวันตกคว่ำบาตร

ขอบเขตผลประโยชน์ จากเครือข่ายธุรกิจ ของตะมะดอว์และคณะนายทหาร ยากที่จะประเมินได้ แต่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า กองทัพยังมีอำนาจอิทธิพลเหนือธุรกิจในประเทศอย่างเหนียวแน่น แม้จะมีการปฏิรูปประชาธิปไตยเมื่อไม่นานมานี้

นักวิเคราะห์เชื่อว่า การก่อรัฐประหารของกองทัพ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา  ส่วนหนึ่งเป็นความพยายามปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจเหล่านี้

รายงานผลการสอบสวนขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2562 หลังมีข้อกล่าวหาตะมะดอว์ปราบปรามกวาดล้างชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจา ในรัฐยะไข่ ได้ข้อสรุปว่า รายได้จากธุรกิจทำให้กองทัพเมียนมา สามารถละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่ถูกลงโทษ

รายงานแสดงให้เห็นว่า เอ็มอีเอชแอล บริหารจัดการโดยนายทหารระดับสูงสุดของตะมะดอว์ ทั้งที่เกษียณไปแล้ว และยังรับราชการ ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท เป็นหน่วยงานของกองทัพ ส่วนที่เหลือเป็นของบิ๊กกองทัพทั้งในอดีตตและปัจจุบัน

ระหว่างปี 2533 – 2554 เอ็มอีเอชแอล จ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้นรวม 16,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (508,475 ล้านบาท)

นายโธมัส แอนดรูว์ ผู้สอบสวนสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ เผยว่า รายได้จากธุรกิจของบริษัทเมียนมา ออยล์ แอนด์ แก๊ส (Myanmar Oil and Gas Enterprise) ของกองทัพเมียนมา จะถึงระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (30,400 ล้านบาท) ในปีนี้ พร้อมกับเรียกร้องให้ยูเอ็นคว่ำบาตร

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ขณะที่มาตรการคว่ำบาตร มีความสำคัญต่อการกดดันตะมะดอว์ แต่ควรใช้ควบคู่กับการกดดันทางกฎหมายและการทูต และการปิดล้อมห้ามต่างชาติส่งอาวุธขายให้เมียนมา จึงจะได้ผลดีกว่าในระยะยาว.

———————–

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS https://www.dailynews.co.th/article/831018